การเปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทุกคนที่ร่วมกันฉีดวัคซีนและปฎิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด เชื้อโควิดไม่กลายพันธุ์เพิ่ม การติดเชื้อไม่รุนแรง และการแพร่ระบาดของโรคลดลง
“โรคประจำถิ่น” ไม่ได้หมายความว่าเชื้อนี้จะหายไปจากสังคมเรา ดังนั้นการจะควบคุมให้โควิด-19 ไม่รุนแรง ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ยังคงต้องเว้นระยะห่าง และรักษามาตรการสาธารณสุข รวมถึงเข้ารับวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของการติดเชื้อ จึงจะจำกัดโควิด-19 ไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้างขึ้นได้
มาตรการทางการแพทย์ / สาธารณสุข มี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
● การป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุขยังคงแนะนำให้สวมหน้ากากเมื่อเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ / เด็กเล็ก และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยและสงสัย แต่ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ในประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วย (ไม่ต้องตรวจ ATK คัดกรองเป็นประจำแล้ว)
● การเฝ้าระวังโรค กรมควบคุมโรคปรับการรายงานโรคจากรายวันเป็นรายสัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป สำหรับในรายละเอียดกรมควบคุมโรควางแผนเฝ้าระวังโรคโควิด 4 รูปแบบ ได้แก่ การเฝ้าระวังผู้ป่วยในโรงพยาบาล, การเฝ้าระวังแบบคลัสเตอร์, การเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงนอกโรงพยาบาล เช่น ตลาด สถานบันเทิง และการเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์
● การควบคุมโรค ผู้มีอาการป่วยควรปฏิบัติตามมาตรการ DMHT คือการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ และการตรวจ ATK หากตรวจพบเชื้อจะต้องปฏิบัติเช่นนี้เป็นระยะเวลา 5 วัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ต้องกักตัว แต่ควรสังเกตอาการตนเอง 10 วัน สำหรับการสอบสวนโรคจะดำเนินการในกรณีการระบาดเป็นคลัสเตอร์
● การรักษา กรมการแพทย์ปรับแนวทางการรักษา โดยในผู้ใหญ่จะใช้ยาต้านไวรัส ‘โมลนูพิราเวียร์’ เป็นหลัก ส่วนยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ จะใช้ในกรณีผู้ป่วยเด็ก หรืออาจใช้ในผู้ใหญ่กลุ่มสีเขียวที่เพิ่งเริ่มมีอาการ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ / ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัส ส่วนการรับรักษาในโรงพยาบาลจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก
สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษา กระทรวงสาธารณสุขแถลงเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ว่า ผู้ป่วยโควิดยังคงได้รับการรักษา “ฟรีตามสิทธิ” เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ เหมือนกับการรักษาโรคอื่น ส่วนกรณีผู้ป่วยสีแดงสามารถรักษาได้ทุกที่โดยใช้สิทธิ UCEP เหมือนกับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต